วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2556

กิจกรรมการเคลื่อนไหวของร่างกาย


       ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ต้องอาศัยทักษะในการเคลื่อนไหวของร่างกายเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ เช่น การเดิน การวิ่ง การยก การดึง เป็นต้น

๑. ประเภทของการเคลื่อนไหว
การเคลื่อนไหว สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
แบบอยู่กับที่  เช่น ก้มหน้า ผลัก ดัน
แบบบังคับสิ่งของ  เช่น ขว้าง ปา เหวี่ยง
แบบผสมผสาน เช่น วิ่งส่งไม้ ก้าวเท้าเตะบอล ก้าวขาส่งบอล
แบบเคลื่อนที่ เช่น วิ่ง เดิน กระโดด
แบบใช้อุปกรณ์ เช่น กระโดดเชือก ไต่เชือก

๒. หลักการเคลื่อนไหวร่างกาย

หลักของการเคลื่อนไหวร่างกาย มีดังนี้
     ๑) การรับแรง เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายบนพื้นในแบบต่าง ๆ โดยร่างกายจะออกแรงรับน้ำหนักตนเองขณะเคลื่อนไหว เช่น เดิน วิ่ง กระโดด เต้นรำ เป็นต้น
     ๒) การใช้แรง เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่กล้ามเนื้อได้ออกแรงเมื่อเคลื่อนไหวในลักษณะต่าง ๆ เช่น ออกแรงกล้ามเนื้อมือในการตบลูกบอล
     ๓) ความสมดุล เป็ฯการเคลื่อนไหวร่างกายในแบบต่าง ๆ ที่ผู้ปฎิบัติสามาถทรงตัวอยู่ได้ดดยไม่เอียงและไม่ล้ม เช่น การยกกล่อง การทำหกสามเส้า

๓. การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน

ในชีวิตประจำวัน เราปฎิบัติกิจกรรมซึ่งจะต้องอาศัยการเคลื่อนไหวในแบบต่าง ๆ ดังนั้น การเรียนรู้หลักการเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะทำให้เคลื่อนไหวได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย
     ๑) การเดินขึ้นบันไดให้เอนตัวไปข้างหน้าและก้าวเท้ายาวๆ ขณะขึ้นทุกขั้น โดยให้เดินลงส้นเท้าเพราะจะใช้แรงและรับแรงน้อยกว่าเดินลงปลายเท้า
     ๒) การเดินลงบันไดให้เอนตัวไปข้างหลังเล็กน้อย ให้เท้าหน้าเดินลงปลายเท้า แต่เท้าหลังยกส้นเท้าขึ้น และไม่ควรรีบร้อนลงเพราะอาจลื่นตกบันไดได้
     ๓) การดึงควรเอนตัวไปข้างหลังขาเหยียดตรงหรือย่อเข่าลงเล็กน้อยหรืออาจก้าวเท้าข้างหนึ่งไปข้างหลังเล็กน้อยแล้วใช้มือดึง
     ๔) การดันก้าวเท้าข้างหนึ่งไปข้างหน้า แล้วย่อเข่าลงเล็กน้อย โน้มตัวไปข้างหน้าเข้าหาสิ่งของที่จะดัน จากนั้นส่งแรงออกไปจากเท้าสู่มือโดยใช้มือดันซึ่งเป็นการบังคับกล้ามเนื้อขาให้ออกแรงมากที่สุด
     ๕) การยกของให้ยืนก้าวเท้าข้างหนึ่งไปข้างหน้า ห่างจากหลังเท้าพอประมาณ ย่อเข่าหน้าลงตั้งฉากกับลำตัว เข่าข้างหลังงอลงเกือบอยู่ในท่าคุกเข่าแล้วใช้มือทั้งสองข้างยกของขึ้นให้ชิดลำตัวมากที่สุด จากนั้นค่อย ๆ ลุกขึ้นยืน

กิจกรรมพลศึกษา


กิจกรรมพลศึกษา 

ต้องเป็นกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเพื่อพัฒนาระบบอวัยวะของเด็กที่มีมาตั้งแต่เกิดเช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด ขว้างปา ห้อยโหน ฯลฯ ให้มีการเจริญพัฒนาการอย่างถูกต้อง สมส่วนด้วยเหตุนี้กิจกรรมพลศึกษา จึงประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้
         1. เกม (Game) เป็นกิจกรรมการเล่นอย่างง่ายๆ ไม่มีกฎกติกามากนัก มีจุดมุ่งหมายเพื่อความสนุกสนาน และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกายได้ตามสมควร เกมบางประเภทสามารถนำมาใช้กับผู้ใหญ่ได้อย่างสนุกสนาน
        2. กิจกรรมกีฬา (Sport) เป็นกิจกรรมใหญ่ที่นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย กิจกรรมกีฬา แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 2 ประเภทได้แก่
          2.1 กีฬาในร่ม (Indoor Sport) ได้แก่ประเภทกีฬาที่ไม่เน้นการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหนัก แต่จะเน้นเรื่องความสนุกสนาน และมักจะนิยมเล่นภายในอาคารหรือโรงยิม เช่นเทเบิลเทนนิส ยิมนาสติก ฯลฯ
          2.2 กีฬากลางแจ้ง (Outdoor Sport) ได้แก่ประเภทกีฬาที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายที่หนักและมักจะเล่นภายนอกอาคาร เช่น ฟุตบอล ขี่ม้า พายเรือ วิ่ง ฯลฯ
        3. กิจกรรมเข้าจังหวะ (Rhythmic Activity) ได้แก่กิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยใช้เสียงเพลงหรือดนตรีเป็นส่วนประกอบ
        4. กิจกรรมทดสอบสมรรถภาพทางกาย (Body Conditioning) เป็นกิจกรรมที่กระทำเพื่อรักษาหรือเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง เช่น การดึงข้อ ดันพื้น ลุก-นั่ง ฯลฯ
        5. กิจกรรมนอกเมือง (Outdoor Activity) เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยไปกระทำตามภูมิประเทศที่น่าสนใจ เช่น การปีนเขา เดินทางไกล ทัศนาจร ค่ายพักแรม ฯลฯ
        6. กิจกรรมแก้ไขความพิการ (Adaptive Activity) เป็นกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายโดยมีจุดประสงค์เพื่อรักษาความพิการทางร่างกาย     

ความหมายของ กิจกรรมนันทนาการ


ความหมาย กิจกรรมนันทนาการ

การที่เราจะสามารถจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น เราควรจะต้องเรียนรู้ถึงกระบวนการสร้างมนุษยสัมพันธ์ของคนเราก่อนว่ามีรูปแบบและลักษณะใด เพื่อเป็นพื้นฐานของการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ของคนเราก่อนว่ามีรูปแบบและลักษณะใด เพื่อเป็นพื้นฐานของการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์อันเป็นผลต่อการพัฒนาบุคลากร องค์กรหรือการอบรมสัมมนา

การสร้่างมนุษยสัมพันธ์

มนุษยสัมพันธ์ คือ การติดต่อเกี่ยวข้องกันระหว่างบุคคลในสังคม ทั้งที่เป็นส่วนตัวและที่เกี่ยวข้องกับงาน ทั้งที่เป็นส่วนตัว และที่เกี่ยวข้องกับงาน ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ โดยมีเป้าหมายสุดท้ายเพื่อให้ตนเองเป็นสุข ผู้อื่นเป็นสุข และสังคมมีประสิทธิภาพ
การสร้่างมนุษยสัมพันธ์ ทำได้โดยการ
  1. ศึกษาตนเองและผู้อื่น ต้องใจกว้างสำรวจตนเอง พบข้อบกพร่องแล้วต้องยอมรับตนเอง และ ตั้งใจที่จะปรับปรุงพฤติกรรมที่ไม่สมควรของตนเอง ศึกษาผู้อื่นว่านิสัยใจคออย่างไร ชอบอย่างไร
  2. แก้ไขปรับปรุงตนเอง เมื่อพบข้อบกพร่องแล้ว ต้องตั้งใจแก้ไข อาจจะศึกษาจากตำราต่างๆ เพื่อปรับปรุงตนเอง
  3. ศึกษาวัฒนธรรม ประเพณีและสังคม ค่านิยมในสังคม
  4. ศึกษาหลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์
  5. นำหลักการสร้างมนุษยสัมพันธ์ไปใช้จริง

ความหมายของกลุ่มสัมพันธ์

  1. เป็นกิจกรรมที่ให้กลุ่มได้เรียนรู้ถึงพฤติกรรม ทัศนคติและการเข้าใจคน
  2. เป็นกิจกรรมที่ให้กลุ่มรู้วิธีแก้ไขปัญหา ยอมรับพัฒนาตนและรับรู้ตนเอง
  3. เป็นการเรียนรู้ปฏิกิริยาภายในกลุ่ม กระตุ้นในบุคคลเกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อการอยู่ในสังคม
  4. เป็นการใช้กระบวนการกลุ่ม เป็นแนวทางให้เกิดความร่วมมือที่ดีต่อการพัฒนาองค์กร

ลักษณะกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ ประกอบด้วยกิจกรรมดังต่อไปนี้

  1. การสร้างความคุ้นเคย
  2. การทำงานเป็นทีม
  3. การสังเกตพฤติกรรม
  4. การสังเกตบทบาท
  5. การเล่นเกม
  6. การฝึก ฟัง คิด พูด
  7. การบริหารงานกลุ่ม

ลักษณะผู้นำกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์

การจัดกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้นำกิจกรรมควรมีความสามารถ ดังต่อไปนี้้
  1. มีความรู้ด้านจิตวิทยา กลุ่มสัมพันธ์ และเทคนิคการละลายพฤติกรรม
  2. รู้จักการวางแผน และการเตรียมการ เพื่อดำเนินกิจกรรมละลายพฤติกรรม
  3. เป็นบุคคลที่มนุษยสัมพันธ์ดี ปรับตังเก่ง เข้ากับบุคคลอื่นได้ดี
  4. มีไหวพริบ มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมีความกระตือรือร้น
  5. เป็นคนยุติธรรม จริงใจ และวางตัวเป็นกลาง
  6. ใจกว้าง มีเหตุผล และยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น
  7. สามารถอธิบายและชี้แจงกิจกรรมได้อย่างชัดเจน
  8. ใช้คำพูดและภาษาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยมีเทคนิคในการพูดกระตุ้นให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วม
  9. ให้ความช่วยเหลือแนะนำ และสังเกตกิจกรรมของกลุ่ม โดยประสานงานให้กลุ่มดำิเนินกิจกรรมไปได้ด้วยดี
  10. สรุปปัญหาได้ชัดเจนและจับประเด็นใจความได้ถูกต้อง

ประโยชน์ของการจัดกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์

  1. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีส่วนร่วมในการเรียนรู้อย่างเต็มที่
  2. การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้จากกิจกรรม จะช่วยให้ผู้เข้ารับการอบรมรู้จักและสนใจตัวเองดียิ่งขึ้น
  3. สร้างบรรยากาศการเรียนให้ผู้เข้ารับการอบรมสนุกสนานไม่เกิดความรู้สึกว่าถูกสอน และสามารถเรียนรู้ได้ในระยะเวลาอันสั้น
  4. เป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากร และการรู้จักแก้ปัญหาทั้งส่วนตัวและส่วนรวม
  5. ช่วยให้เกิดทัศนคติที่ดีต่อกัน มีความเข้าใจ เห็นใจกัน ลดการขัดแย้ง
  6. ช่วยส่งเสริมให้การทำงานรวมพลังกันเป็นทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  7. ช่วยให้ผลงานเป็นไปตามเป้าหมาย และได้มาตรฐาน เป็นการเสริมสร้างพลังขององค์กรโดยบุคลากรที่ประสิทธิภาพ
  8. ช่วยส่งเสริมในการพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและผ่อนคลาย ความตึงเครียด

หลักการสอน พลศึกษา


หลักการสอนพลศึกษา
               
 สำหรับการสอนวิชาพลศึกษานั้นมีความมุ่งหมายเฉพาะที่สามารถมองเห็นได้เด่นชัด ดังต่อไปนี้
1.       เพื่อให้มีสมรรถภาพและสุขภาพของร่างกายดีขึ้น รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งสุขภาพ นับว่า
สำคัญและเป็นหัวใจของการสอนพลศึกษาเพราะการศึกษาแขนงอื่นมีส่วนบกพร่องทางด้านนี้ วิชาพลศึกษาเท่านั้นมีบทบาทที่จะเสริมสมรรถภาพ
2.       เพื่อให้มีทักษะในกิจกรรมทางด้านพลศึกษาและสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปใช้ให้เกิด
ประโยชน์ได้ในโอกาสต่อไป เนื่องจากวิชาพลศึกษาอาศัยกิจกรรมต่าง ๆ ทางกายเป็นสื่อ ฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องสร้างทักษะเสียก่อนให้เพียงพอ เพื่อจะได้นำทักษะอันเป็นพื้นฐานของกิจกรรมไปใช้
3.       ให้มีความรู้ความเช้าใจในด้านต่าง ๆ เป็นต้นว่า ความรู้ความด้านคุณค่าของวิชา
พลศึกษาประโยชน์ของกิจกรรมประเภทต่าง ๆ
4.       เพื่อให้มีคุณลักษณะต่าง ๆ ประจำตัว คุณลักษณะดังกล่าวนี้ครอบคลุมไปทุก ๆ ด้าน
ซึ่งเชื่อว่ากิจกรรมทางพลศึกษาจะมีส่วนช่วยและส่งเสริมได้
5.       เพื่อให้มีสุขนิสัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม โดยทั่วไปแล้วถือว่าวิชา
พลศึกษาเป็นวิชาสุขศึกษาภาคปฏิบัติ เพราะในการเรียนวิชาพลศึกษาต้องอาศัยการปฏิบัติเป็นหลัก ฉะนั้นการสอนวิชาพลศึกษาจึงต้องเน้นในเรื่องสุขนิสัยด้วย

ข้อแนะนำในการสอนวิชาพลศึกษา
1.       ในการศึกษาแผนใหม่ถือว่าวิชาพลศึกษามีส่วนช่วยในการพัฒนานักเรียนใน
ทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพและสมรรถภาพของร่างกายได้เป็นอย่างดียิ่ง
2.       การจัดกิจกรรมพลศึกษาที่หนัก เหมาะสมกับสภาพของร่างกายของเด็กแต่ละ
คนเป็นการส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกายที่ดี เมื่อนักเรียนเริ่มมีการพัฒนาทางด้านความ
แข็งแรงความอดทนและทักษะแล้วก็จะมีโอกาสมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่หนัก ๆ และสูง ๆ ต่อไปอีก
ความหนักและความยากของกิจกรรม ความเพิ่มขึ้นตามลำดับและความเหมาะสม นักเรียนแต่ละคน
ต้องการความหนักเบาของกิจกรรมแตกต่างกัน
3.       สิ่งที่เด็กหวังจะได้รับในระหว่างมีส่วนร่วมอาจจะแตกต่างกัน เช่น คนหนึ่ง
อาจมีส่วนร่วมเพื่อผลทางสุขภาพอีกคนหนึ่งอาจมีส่วนร่วมเพื่อคามสนุกสนาน หรืออีกคนหนึ่งต้องการทั้งสองอย่างดังกล่าวแล้วก็ได้
4.       ผลที่จะได้รับจากการสอนพลศึกษาไม่ใช่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติหรือโดยบังเอิญ
การสอนที่จะให้ได้รับผลดีนั้น การสอนวิชาพลศึกษาก็เช่นเดียวกับวิชาอื่น ๆ คือจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในตัวนักเรียนมีความรักนักเรียน และได้มีการเตรียมบทเรียนตามความเหมาะสมกับนักเรียนไว้ล่วงหน้า
5.       นักเรียนที่อยู่ในชั้นเดียวกันจะมีความแตกต่างกันทั้งในด้านวุฒิภาวะ
(Maturity) ความสามารถและความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ประโยชน์ที่นักเรียนจะได้จากการสอนวิชาพลศึกษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ ๆ ดังกล่าวแล้วนี้ด้วย
6.    นักเรียนทุกคนจะมีการพัฒนาดีที่สุดและมีความสุขในชีวิตมากที่สุด ก็ต่อเมื่อได้มีความพอใจสบายใจในประสบการณ์ ในการมีส่วนร่วมในกิจกรรม
พลศึกษา
7.       ควรจัดกิจกรรมให้นักเรียนชายและหญิงมีโอกาสมีส่วนร่วมในกิจกรรม
เดียวกันด้วยกัน เป็นบางครั้งบางคราวถ้ามีโอกาส
8.       นักเรียนต้องการทราบในความสามารถของตนเองในกิจกรรมต่าง ๆ และ
อยากทราบว่าเท่าที่เรียนมาตัวเองเป็นอย่างไรบ้าง
9.       นักเรียนทุก ๆ คนได้รับประโยชน์จากการพลศึกษาทั้งนั้น แต่กิจกรรมต่าง ๆ
 สำหรับนักเรียนแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน นักเรียนส่วนใหญ่อาจจะสามารถมีส่วนร่วมได้ทุก
กิจกรรม แต่บางคนอาจจะต้องการเฉพาะกิจกรรมที่ง่าย ๆ และเบาๆ
10.   ถ้าติดตามสังเกตนักรเยนแต่ละคนเป็นประจำโดยสม่ำเสมอจะทำให้เรา
สามารถทราบข้อบกพร่องและความต้องการช่วยเหลือของนักเรียนได้
11.   นักเรียนแต่ละคนต้องการรู้ เข้าใจและมีทักษะเบื้องต้นง่าย ๆ เช่น การเดิน วิ่ง
 กระโดด รับ-ส่งลูกที่ถูกต้อง
12.   ส่วนประกอบที่สำคัญของการมีสุขภาพดีของนักเรียนคือ การรับประทาน
อาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อนที่เพียงพอ
13.   สถานที่สอนพลศึกษาในร่มและกลางแจ้งคือ ห้องเรียนและห้อง Lab ของวิชา
พลศึกษา
14.   อุปกรณ์การสอน เช่น ลูกบอล เบาะ และอื่น  ๆ ก็คือปากกา สมุด หนังสือ
สำหรับการสอนวิชาพลศึกษามีความจำเป็นและสำคัญต่อการสอนพลศึกษา เช่นเดียวกับการสอนวิชาอื่นๆ
15.   เวลาสำหรับเตรียมการสอน ตารางสอนที่ยืดหยุ่นได้พอสมควร ชั้นที่ไม่มี
นักเรียนมากเกินไปและชั่วโมงการสอนของครูไม่มากเกินไป เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญ และจำเป็นที่จะทำให้การเรียนได้ผลดี
16.   โปรแกรมการสอนพลศึกษาจะต้องวางตามลำดับจากง่ายไปยาก หรือสอนให้
มีความคืบหน้าไปตามลำดับ

วิธีการสอนแบบต่าง ๆ

1.การสอนแบบสั่งการ (Teaching by command)
                การสอนแบบสั่งการ เป็นแบบการสอนที่มีความสามารถที่จะให้ผู้เรียนไปถึง
จุดมุ่งหมายที่น้อยที่สุดหรือต่ำสุด เมื่อเทียบกับวิธีสอนแบบอื่น ๆ แต่ก็ยังเป็นแบบที่เราใช้มากที่สุดในการสอนวิชาพลศึกษาในปัจจุบันนี้ เนื่องจากว่าห้องเรียนหนึ่ง ๆ มีนักเรียนมากเกินไปนั่นเอง การสอนแบบสั่งการนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นแบบวิธีสอนที่เป็นพื้นฐานและโครงสร้างของวิธีสอนแบบอื่น ๆที่ใช้กันอยู่เป็นประจำในปัจจุบันนี้ด้วย
2. การสอนแบบมอบงานให้ทำ (Teaching by Task)
                การสอบแบบมอบงานให้ทำ มีความแตกต่างกับการสอนแบบสั่งการ คือ การ
สอนแบบสั่งการนั้นทุกสิ่งอย่างจะขึ้นอยู่กับครูสอนเพียงคนเดียว เด็กไม่มีอิสระในการฝึกกิจกรรม แต่การสอนแบบมอบงานให้ทำนี้เด็กจะมีอิสระในการฝึกกิจกรรมของเขามากยิ่งขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ตามการสอนลักษณะนี้ก็ถือว่าเป็นการสอนที่คล้ายคลึงกับการสอนแบบสั่งการ คือสั่งให้เด็กไปทำ การทำนั้นก็คือสิ่งที่ครูมอบและกำหนดให้ ซึ่งถือว่าเป็นงานในเนื้อหาวิชาที่กำหนดโดยเด็กจะรู้ว่าเขาจะเริ่มเมื่อไร และจะหยุดเมื่อไร
                ถึงอย่างไรก็ตาม การมอบหมายงานให้เด็กไปฝึกหรือกระทำนั้น ก็คงอยู่ในความควบคุมของครูแต่ครูจะมีเวลาได้พักไม่ต้องเหนื่อยมากเหมือนการสอนแบบสั่งการซึ่งครูจะต้องอยู่หรือคอยควบคุมเด็กตลอดเวลา การสอนแบบมอบงานให้ทำจะเปิดโอกาสให้เด็กกับครูมีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น เด็กมีโอกาสจะพัฒนาตัวของเขาอย่างอิสระมากขึ้นกว่าการสอนแบบสั่งการ

3. การสอนแบบจับคู่ (Reciprocal Teaching)
                การสอนแบบจับคู่ เป็นแบบการสอนที่เด็กจะมีอิสระและเป็นตัวของตัวเองมากกว่าการสอนแบบสั่งการ และแบบมอบงานให้ทำ การสอนแบบนี้ครูจะมีบทบาทเป็นอย่างมากเกี่ยวกับเรื่องการวัดผล และความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็มีมากขึ้นด้วย

4.  การสอนแบบแบ่งเป็นกลุ่มย่อย  (Use of Small Group)
                การสอนแบบแบ่งเป็นกลุ่มน้อย ก็คล้ายกับวิธีสอนแบบจับคู่ แต่การสอนแบบกลุ่มน้อยมีเพียงมากขึ้นมากกว่าแบบจับคู่ ก็คือ มีผู้สังเกตและผู้บันทึกการสอนแบบเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มีประโยชน์มากในกรณีที่อุปกรณ์ และเครื่องมือ มีจำนวนจำกัด  การแบ่งกลุ่มย่อย มักจะแบ่งเป็นกลุ่มละ 3-4 คน (บางกรณีอาจจะมากกว่านี้)

5. การสอนเป็นรายบุคคล  (The Individual program)
                หัวใจสำคัญในการสอนก็คือ การเรียนเป็นรายบุคคล เพราะในการแสวงหาความรู้และการเรียนรู้เป็นหน้าที่ของแต่ละคน จะเรียนแทนกันไม่ได้ การจัดโปรแกรมในการสอนจะต้องมีเนื้อหาวิชามากพอที่จะให้ผู้เรียนได้มีโอกาส ทดลอง หรือเลือก และเร้าใจให้ผู้เรียนมีความต้องการที่จะเรียน

6. การสอนโดยวิธีแนะแนวให้ค้นคว้า(Guide Discovery)
                การสอนแบบแนะแนวให้เกิดการค้นคว้า เป็นวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนได้ประกอบพิจารณา
อันจะก่อให้เกิดความ งอกงามทางด้านสติปัญญา เมื่อพูดถึงกิจกรรมอันจะก่อให้เกิดความงอกงามทางสติปัญญานั้นกินความหมายมาก ซึ่งต่างกับกิจกรรมอื่น ๆ นักจิตวิทยาและนักวิจัยที่มีชื่อเสียงได้เสนอข้อคิดเห็นไว้ว่ากิจกรรมี่จะก่อให้เกิดความงอกงามทางสติปัญญานั้นคือ กิจกรรม ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำมีความสามารถในสิ่งต่อไปนี้คือ
    1. ความสามารถในการถาม
    2. ความสามารถในการเปรียบเทียบ
    3.ความสามารถในการสรุปความหรือลงความเห็นจากการเปรียบเทียบจากของสองสิ่งหรือ  หลายสิ่ง
    4. ความสามารถในการตัดสินใจ
    5. มีความสามารถในการใช้กลวิธีต่าง ๆ เข้าช่วยในการแก้ปัญหา
    6. มีความสามารถในการคิดประดิษฐ์
    7. มีความสามารถในการค้นคว้า
    8. มีความสามารถในการตอบโต้
                และนี้คือหลักการพัฒนาหลักสูตรพลศึกษา และวิธีการสอนพลศึกษา ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กและเยาวนองชาติต่อไป

การศึกษา วิชาพลศึกษา สำหรับ ครูพลศึกษา


พลศึกษาในเชิงร่างกาย

พลศึกษาในเชิงร่างกาย ก็คือการทำให้ร่างกายมีพลังที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย
1 ความแข็งแรง เช่น ข้อมือ สามารถยกสิ่งของหนักได้
2 ความเร็ว เช่น การวิ่งระยะสั้น 50 เมตร ในเวลาที่กำหนด
3 ความอ่อนตัว เช่น การก้มตัว เข่าตึง ไปหยิบของบนพื้น
4 ความคล่องแคล่ว เช่น การโยกลำตัวหลบหลีกสิ่งกีดขวาง
5 ความทนทาน เช่น การเดินเร็ว หรือวิ่งระยะทางไกล เป็นเวลานาน
6 ระบบไหลเวียนโลหิต เช่น การที่เหงื่อออกจากร่างกาย และการจับชีพจรตามเกณฑ์ที่กำหนด

พลศึกษาในเชิงจิตใจ

พลศึกษาในเชิงจิตใจ ก็คือ พละ 5 แปลว่าธรรมอันเป็นกำลัง ที่สถิตย์ในจิตใจคน มีพลังเป็นนามธรรม ประกอบด้วย
1 ศรัทธา - ความเชื่อ คือเชื่อว่าจิตของคนมีพลังแฝงทุกขณะ
2 วิริยะ - ความเพียร คือคนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจฝึกฝน ฝึกซ้อม ให้สำเร็จได้
3 สติ - ความระลึกได้ คือการรู้ตัวทุกขณะ ว่ากำลังเคลื่อนไหว
4 สมาธิ - ความตั้งจิตมั่น คือ การนำจิตไปจดจ่อกับการเคลื่อนไหวในขณะนั้น
5 ปัญญา - ความรู้ชัดแจ้ง คือ น้อมนำความคิด วิธีคิดว่าขณะที่เคลื่อนไหว ต้องแก้ปัญหาขณะนั้นและคิดการณ์ล่วงหน้าเสมอ

พลศึกษาในเชิงการศึกษา

พลศึกษาในเชิงการศึกษา เป็นส่วนขององค์ประกอบ 4 ประการ ของการศึกษา ตามหลักสูตร 2504 ประกอบด้วย 1 พุทธิศึกษา - การพัฒนาด้านสติปัญญา 2 จริยศึกษา - การพัฒนาด้านคุณธรรม 3 หัตถศึกษา - การพัฒนาทักษะ 4 พลศึกษา - การพัฒนาด้านสุขภาพกายใจ

พลศึกษาในเชิงความยอดเยี่ยม

“ยอดเยี่ยม” แปลความตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นคำวิเศษณ์ ว่า ดีที่สุด, เลิศที่สุด ดังนั้นส่วนหนึ่งจากชื่อหัวข้อเรื่องคือ พลศึกษาเป็นคำที่ยอดเยี่ยม ผู้เขียนกำลังจะให้วิธีคิดและข้อคิดที่จะให้ทุกคนเข้าใจพลศึกษาในมุมมองของคำว่า “ยอดเยี่ยม” ซึ่งเป็นนามธรรมอันทรงคุณค่าแขนงหนึ่งที่ไม่มีการเปรียบเทียบกับแขนงอื่น
ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ แปลคำ “ พลศึกษา ” ว่า การศึกษาที่จะนำไปสู่ความเจริญงอกงามและพัฒนาการทางร่างกาย จากคำแปลนี้ นักวิชาการทางพลศึกษาทั้งต่างประเทศและในประเทศต่างให้คำจำกัดความของพลศึกษา ด้วยอรรถรสทางภาษาหลายรูปแบบ หลายลีลา แต่เมื่อตีความกันแล้ว มีความหมายที่คล้ายคลึงกัน เข้าใจกันว่าพลศึกษาเป็นอย่างไร คืออะไร หมายถึงอะไร เพียงแต่นักวิชาการทางพลศึกษาบางคนอาจมีรายละเอียดในการใช้คำมากกว่าบางคน ทั้งหมดทั้งมวล อ่านแล้วเข้าใจและให้ความหมายไปในทิศทางเดียวกันนั่นเอง ในฐานะผู้เขียนเป็นครูพลศึกษาคนหนึ่ง มีประสบการณ์สอนมา ๓๒ ปี ขอให้แนวทางคำว่า
พลศึกษา เพื่อให้มองเห็นเนื้อในใจความของคำนี้อย่างถ่องแท้ในความหมาย ๓ ระดับจากคำว่า “คือ” ให้ภาษาที่สั้น กระชับและกว้างๆ จากคำว่า “เป็น” ให้ภาษาพื้นฐานที่เข้าใจได้และแยกย่อยอย่างง่ายๆ และ“หมายถึง” ให้ภาษาที่ขยายความ ที่แตกคำออก และเพิ่มคำที่สำคัญ ดังนี้
พลศึกษา คือ ศาสตร์และศิลป์ในการเรียนรู้ร่างกายและจิตใจ
พลศึกษา เป็น ชื่อสาระการเรียนรู้แขนงหนึ่งที่บังคับเรียนตามหลักสูตร เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกายและจิตใจอย่างถูกวิธี หรือหากจะเพิ่มรายละเอียดมากขึ้น ขอขยายความว่า
พลศึกษา หมายถึง สาระการเรียนรู้แขนงหนึ่ง ที่ว่าด้วยการเรียนรู้เรื่องการเคลื่อนไหวที่ต้องบังคับร่างกายและควบคุมจิตใจ เพื่อก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับการออกกำลังกาย และใช้กีฬาเป็นสื่อในการเรียนรู้
แล้วถามต่อว่า เรียนพลศึกษาไปทำไม ก็จะต้องมีการสร้างวิธีคิดให้กับผู้เรียนเช่นกันว่าทุกเรื่องที่เรียนรู้มีเป้าหมายปลายทางทั้งสิ้น ดังนี้
เรียนพลศึกษา เพื่อ ให้ร่างกายและจิตใจมีการเคลื่อนไหวที่ถูกวิธีและถูกต้อง จนก่อเกิดความแข็งแรงในร่างกายและความแข็งแกร่งในจิตใจ เมื่อเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ จะมีสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจที่ดีต่อไป
จากนัยสำคัญของพลศึกษาในแง่ของคำว่า คือ,เป็น,หมายถึงและเพื่อ นั้น ย่อมแสดงถึงคุณค่ามหาศาลของคำ คำนี้ และเมื่อจะถอดรหัสใจความของเนื้อในที่มีหลายคำที่ทรงคุณค่า และสำคัญ ไม่ว่า ศาสตร์, ศิลป์, เคลื่อนไหว, บังคับร่างกาย, ควบคุมจิตใจ, ถูกวิธี, มีประสิทธิภาพ, ออกกำลังกาย, กีฬาเป็นสื่อ, ความแข็งแรงในร่างกาย, ความแข็งแกร่งในจิตใจ และสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ ยิ่งทำให้เห็นว่า คำนามธรรมคำหนึ่งที่ชื่อว่า “พลศึกษา” นั้น ทำไมจึงเป็นสาระการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมได้ เพียงแต่จะไม่ขอกล่าวรายละเอียดในที่นี้ แต่จะให้แนวคิด, ข้อคิด และวิธีคิด
อีกแง่มุมหนึ่งที่นักวิชาการทางพลศึกษาหลายคนมองข้ามไป กล่าวคือ จากการที่การศึกษาส่วนใหญ่ เรียนรู้มาจากองค์ความรู้จากตะวันตกเป็นหลัก ซึ่งก็คือ “ความรู้ทางโลก” ทำให้องค์ความรู้ทางตะวันออกอีกแง่มุมหนึ่งลืมเลือนไปหรือให้ความสำคัญน้อยกว่า ซึ่งก็คือ “ความรู้ทางธรรม” นั่นคือ วิธีคิดทางธรรม ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างเป็นนามธรรม แต่สามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอยู่ตลอดเวลา และอยู่ใกล้ตัวของคนมากที่สุด
ในอดีตชาวพลศึกษาหลายคนเคยได้รับการปลูกฝังจากครูบาอาจารย์ และรุ่นพี่ ให้พูดคำว่า พลศึกษา ให้เต็มคำ ไม่ใช่พูดว่า “พละ” ซึ่งความคิดขณะนั้น จะหมายถึงว่าใช้เฉพาะกำลัง ไม่ออกแนวใช้ความรู้ทางสมองมากนักหรือไม่ออกแนววิชาการนั่นเอง แต่เกรงว่าคนอื่นจะเข้าใจผิดว่าชาวพลศึกษาใช้แต่กำลังมากกว่าใช้สมอง เมื่อวันเวลาผ่านไป ประสบการณ์และการเรียนรู้มากขึ้น ผู้เขียนเริ่มเข้าใจว่า พูดคำว่า “พละ” ก็ได้ แถมมีนัยสำคัญทางธรรมะประกอบอยู่เสมอ ให้ระลึกเสมอว่า พละเป็นเรื่องที่มีความรู้ทางโลกและทางธรรมอยู่รวมกัน อยู่ร่วมกัน และอยู่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดเวลา ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พ.ศ. ๒๕๒๗ กล่าวว่า
พละ ๕ คือธรรมอันเป็นกำลัง เป็นเครื่องเกื้อหนุนแก่อริยมรรค ประกอบด้วย ๑ ศรัทธา คือ การเชื่อ เป็น ความเชื่อในสิ่งที่มีเหตุผล ไม่ตื่นตูมไปกับลักษณะอาการภายนอก ๒ วิริยะ คือ ความเพียร เป็น การประพฤติความดี ทำกิจไม่ย่อท้อ ๓ สติ คือ การนึกได้ เป็น ไม่เผลอ คุมใจไว้ได้กับกิจที่ทำ ๔ สมาธิ คือ มีใจตั้งมั่น เป็น การทำใจให้สงบนิ่ง และ ๕ ปัญญา คือ การเข้าใจที่ชัดเจน เป็น การหยั่งรู้ แยกแยะได้ในเหตุผล ที่ถูกและผิด
เพื่อให้เป็นรูปธรรม จะขอยกตัวอย่างกีฬา เปตอง ดังนี้
๑ ศรัทธา ต้องเข้าใจและยอมรับว่า เปตองเป็นกีฬาอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์ หรือขณะอารมณ์ไม่ดี ต้องดึงเอา ปัญญา มาจับอาการให้ทัน
๒ วิริยะ หมั่นฝึกซ้อม ฝึกฝน อย่างจริงจังตั้งใจและมั่นคง มี ปัญญา ควบคุมตลอดเวลาว่าที่ปฏิบัติมานั้นดีแล้ว
๓ สติ ในการปฏิบัติหรือเล่นหรือแข่งขัน จิตใจต้องจดจ่อไปที่การเคลื่อนไหวในขณะนั้น เวลานั้น อย่าเผลอคิดเร่องอื่นให้วุ่นวาย และมี ปัญญามากำกับอีกเช่นกัน
๔ สมาธิ เป็นการเพิ่มความเข้มบนความมุ่งมั่นมากกว่าสติ แต่นำปัญญามาควบคุมเช่นเดิม
๕ ปัญญา ต้องใช้การฟัง คิด ถาม และเขียน ให้เป็นนิสัย สะสมให้มาก เพื่อเป็นต้นทุนในการสร้างกำลังใจ ความแข็งแกร่งทางจิตและต่อเติมความคิดอย่างชาญฉลาด
ดังนั้นขอขยายความว่า พละ ๕ กับนักกีฬาเปตองหรือคนเล่นเปตอง เมื่อเรียนรู้ทักษะกลไกทางการเคลื่อนไหวของเปตองแล้ว ที่เรียกว่า ความรู้ทางโลก ที่มีองค์ประกอบของการใช้ร่างกายที่มีกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท ข้อต่อต่างๆ มาผสมผสานกับส่วนสมองในการคิดหาวิธีการฝึกฝนให้มีทักษะที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันนั้น ความรู้ทางธรรมคือ พละ ๕ ก็กำลังดำเนินการอยู่ภายในจิตใจ ควบคุมการฝึกฝนทักษะพร้อมกันตลอดเวลา สามารถเห็นเป็นรูปธรรม เมื่อแสดงออกมาทางอากัปกิริยาท่าทาง สีหน้า วาจา และอารมณ์ จึงเห็นว่าความรู้ทางโลกเสมือนเป็นศาสตร์ ที่ต้องเก็บเกี่ยวสาระความรู้มาคั้นกลั่นกรองสู่สมอง นำออกไปใช้ และความรู้ทางธรรมเสมือนเป็นศิลป์ ที่ต้องรู้จักบุคลิกตน รู้จักวางตน ใช้ความรู้ให้เหมาะสมกับสถานที่และช่วงเวลาในขณะนั้น ตามข้อตกลง และระเบียบที่กำหนด
พละ ๕ ที่นำไปใช้ในกีฬาเปตองเกิดขึ้นทุกขณะที่มีการอยู่นิ่ง หรือเคลื่อนไหว และเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง พละ ๕ หรือไล่เลี่ยกันเป็นทอดๆอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ประสบการณ์การสอนพลศึกษาทำให้เกิดการคิด วิเคราะห์ และสังเคราะห์ คำว่า “พลศึกษา” มาเป็นข้อคิดก็ได้ คำคมก็ดี ที่ส่งเสริมให้ คำว่าพลศึกษาเป็นสาระการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยม ดังประโยคและวลีต่อไปนี้
พลศึกษา เป็น ศาสตร์ และ ศิลป์ ที่ผสมผสานความรู้ทางโลก และ ความรู้ทางธรรม ในเรื่อง
๑ การใช้ เรี่ยวแรง อย่างชาญฉลาด เป็นศาสตร์ของความรู้ทางโลก
๒ การใช้ การเคลื่อนไหว อย่างหลักแหลม เป็นศาสตร์ของความรู้ทางโลก
๓ การใช้ สมอง อย่างปราดเปรื่อง เป็นศาสตร์ของความรู้ทางโลก
และ ๔ การใช้ จิต อย่างแยบยล เป็นศิลป์ของความรู้ทางธรรม
จึงเห็นได้ว่า พลศึกษาเป็นคำที่ยอดเยี่ยม ในตัวตนของมันเอง เป็นภาษาไทยคำหนึ่ง ที่มีคุณค่าอยู่ในชื่อของคำนี้ ไม่สมควรไปเปรียบเทียบกับคำในวิชาชีพอื่น ซึ่งก็มีคุณค่าเฉกเช่นกัน เป็นคำที่ประกอบด้วยความรู้ทางโลกและความรู้ทางธรรมอยู่ในคำ ส่วนการได้รับการสรรเสริญหรือการได้รับความเสื่อมเสียของคำนี้นั้น มาจากน้ำมือและการกระทำของคนที่นำพลศึกษาไปใช้ ว่าเข้าใจ เข้าถึง และลึกซึ้งกับคำว่า “พลศึกษา” หรือไม่อย่างไร เพราะพลศึกษาเป็นเนื้อหาและกิจกรรมที่เกี่ยวโยงนำมาเกี่ยวข้องกับร่างกายและจิตใจของคน จะเรียกว่าพลศึกษาอยู่ในร่างกายและจิตใจของทุกคน ทุกขณะและทุกเวลา ดังนั้นพลศึกษาจึงเป็นคำที่ยอดเยี่ยมอย่างเยี่ยมยอดจริงๆ

พลศึกษาในเชิงความยิ่งใหญ่

“ยิ่งใหญ่” แปลความตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นคำวิเศษณ์ ว่า มีอำนาจมาก, มีสติปัญญาความสามารถสูง คงไม่เป็นการยกย่อง ยกยอจนเกินเลยว่า พลศึกษานั้นยิ่งใหญ่ เพราะเหตุและปัจจัยหลายอย่างที่ประจักแก่สายตาของผู้คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องและใช้พลศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน ทำให้คนที่ออกกำลังกาย มีสุขภาพ มีร่างกายที่แข็งแรง มีจิตใจที่แข็งแกร่ง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ดั่งแนวทางพุทธศาสนาที่ว่า “การสะสมบุญกุศลหรือการสะสมสิ่งดีดีแก่ชีวิต ย่อมนำความสุขและความเจริญมาให้ผู้นั้นเสมอ” เป็นความจริงที่ปรากฏมาร่วม ๒๕๐๐ กว่าปีแล้ว นี่แหละพลังอันยิ่งใหญ่ของพลศึกษา
จากคำแปลของคำว่า “ยิ่งใหญ่” ทำให้เห็นว่าพลศึกษามี ๒ ส่วนที่แสดงถึงความยิ่งใหญ่ คือ ๑ พลังอำนาจ บ่งบอกทางร่างกาย-จิตใจ ๒ พลังสติปัญญาความสามารถสูง บ่งบอกทางสมอง ดังขอขยายความออกเป็น
๑ ความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรของพลศึกษาแห่งพลังอำนาจ ที่บ่งชี้ทางพลังกาย คือ คนใดที่ได้ใช้กิจกรรมการเคลื่อนไหวที่มีมากมายหลายหลากของพลศึกษาในเชิงร่างกาย ย่อมเกิด
๑.๑ ความแข็งแรง (Strength) เช่น ข้อมือสามารถยกของหนักได้ จากที่ไม่เคยยกได้มาก่อน เป็นต้น
๑.๒ ความเร็ว ( Speed ) เช่น วิ่งได้เร็วและเร่งมากขึ้น อย่างไม่เหนื่อย เป็นต้น
๑.๓ ความอ่อนตัว (Flexibility) เช่น สามารถก้มตัว หยิบของบนพื้นได้อย่างสบาย ไม่ปวดเมื่อย เป็นต้น
๑.๔ ความคล่องแคล่ว ( Agility ) เช่น สามารถโยกลำตัวหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้รวดเร็ว เป็นต้น
๑.๕ ความทนทาน (Endurance) เช่น เดินหรือวิ่งได้นานขึ้น และไม่เมื่อยล้า เป็นต้น
๑.๖ ระบบไหลเวียนโลหิต (Circular –Respiratory Fitness) เช่น มีเหงื่อออกจากร่างกายมากขึ้น ทำให้รู้สึกสดชื่น เป็นต้น
ทำให้นึกถึงกฎข้อหนึ่งที่ว่า law of use and disuse ( กฎแห่งการใช้และไม่ใช้ ) ของนายฌอง แบพติสท์ เดอ ลามาร์ก ชาวฝรั่งเศส ที่วางรากฐานทฤษฎีวิวัฒนาการ คืออวัยวะส่วนใดของร่างกายที่ใช้บ่อย ย่อมมีการพัฒนาเจริญเติบโตอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อนำมาเปรียบเสมือนกับทางพลศึกษาคือ กล้ามเนื้อมัดใดของร่างกายที่ใช้บ่อย จะก่อให้เกิดความแข็งแรง ในทำนองตรงกันข้าม กล้ามเนื้อมัดใดที่ร่างกายไม่ได้ใช้ ย่อมอ่อนแอ
หากนำพลังอำนาจมากล่าวถึงในเชิงจิตใจ ดั่ง พละ ๕ เสมือนธรรมอันเป็นกำลัง มีพลังอำนาจเป็นศักยภาพที่สถิตในจิตใจคน ดังนี้
๑ ศรัทธา - ความเชื่อ คือเชื่อว่าจิตของคนมีพลังแฝงทุกขณะ
๒ วิริยะ - ความเพียร คือคนมีความมุ่งมั่น ตั้งใจฝึกฝน ฝึกซ้อม ให้สำเร็จได้
๓ สติ - ความระลึกได้ คือการรู้ตัวทุกขณะ ว่ากำลังเคลื่อนไหว
๔ สมาธิ - ความตั้งจิตมั่น คือ การนำจิตไปจดจ่อกับการเคลื่อนไหวในขณะนั้น
๕ ปัญญา - ความรู้ชัดแจ้ง คือ น้อมนำความคิด วิธีคิดว่าขณะที่เคลื่อนไหว ต้องแก้ปัญหาขณะนั้นและคิดการณ์ล่วงหน้าเสมอ
๒ ความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรของพลศึกษาแห่งพลังสติปัญญาความสามารถสูง ที่บ่งชี้ทางพลังสมองของคน ในการศึกษาเล่าเรียนศาสตร์และศิลป์ทางพลศึกษา ที่แตกแขนงออกไปหลายแขนง ดังนี้
๒.๑ วิทยาศาสตร์การกีฬา ( Sport Science ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้จากการสังเกต ค้นคว้า ทดลองและวิจัยในเรื่องที่สอดคล้องกับกิจกรรมการเคลื่อนไหว เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่แข็งแรงและจิตใจที่แข็งแกร่ง
๒.๒ กายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา ( Anatomy and Physiology ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น เส้นประสาท ของร่างกาย เพื่อให้การเคลื่อนไหวถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ
๒.๓ จิตวิทยาการกีฬา ( Psychology of Sport ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้พฤติกรรม อารมณ์ บุคลิกของคน เพื่อทำให้มีสภาวะจิตใจที่เข้มแข็งและมั่นคงในกิจกรรมการเคลื่อนไหว
๒.๔ ชีวกลศาสตร์ ( Biomechanics ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับแรง ขนาดของวัตถุ ที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การเคลื่อนไหวมีประสิทธิผล
๒.๕ เวชศาสตร์การกีฬา ( Sports medicine ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้การป้องกัน รักษา กายภาพบำบัดและวินิจฉัยเรื่องการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหว เพื่อให้ร่างกายและจิตใจคืนสภาพสู่ภาวะปกติ
๒.๖ โภชนศาสตร์การกีฬา ( Nutrition of Sport Science ) เป็นการศึกษาและเรียนรู้เรื่องอาหารที่นำมาใช้กับร่างกาย เพื่อให้ร่างกายมีการเคลื่อนไหวและมีพลังงานในการทำงานอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง
ซึ่งองค์ความรู้ดังกล่าวข้างต้น อาจมีการแตกแขนง เพื่อเพิ่มสาระเนื้อหาให้มากและเจาะลึกในรายละเอียดได้ จะเห็นได้จากการนำเนื้อหาเพียง “กีฬา” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งส่วนย่อยของพลศึกษาเท่านั้น แต่สามารถสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับคนที่มีความสามารถในเชิงกีฬา และสร้างชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ความยิ่งใหญ่ของกีฬานั้น คนยังคงมองข้ามข้อตกลง ข้อบังคับ กฎกติกา ที่เป็นความรู้ทางธรรม มุ่งเน้นจริยธรรม จรรยามรรยาท ที่แอบแฝงปลูกฝังคนให้มีน้ำใจเป็นนักกีฬาควบคู่ไปกับความเก่งกาจทางทักษะกลไก
จึงเห็นว่าความยิ่งใหญ่ของพลศึกษา มีพลานุภาพและเสริมส่งภูมิปัญญาในองค์ความรู้ที่หลากหลายมากมายอย่างไม่จบสิ้น และพลศึกษาเสมือนตัวแม่ในการแตกแขนงความรู้เหล่านี้ เพื่อดำเนินการจัดการเป็นสาขาวิชาหนึ่ง หรืออาจเป็นภาควิชาหนึ่ง หรือคณะหนึ่งในมหาวิทยาลัยก็ได้ ตราบใดองค์ความรู้ที่เรียนรู้เกี่ยวข้องและถ่ายโยงสู่ร่างกายและจิตใจของคน ตราบนั้นพลศึกษายังคงดำรงอยู่ในเลือดเนื้อเชื้อไขและจิตใจของคนไปตลอด

พลศึกษาในเชิงความก้าวไกล

“ก้าวไกล” แปลความได้ว่า การเจริญวัฒนาขึ้นไปตามลำดับ เพราะพลศึกษาเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคน เมื่อวิวัฒนาการความคิดในการสร้างสรรค์ของคนไม่หยุดนิ่ง ศึกษาหาความรู้ ค้นคว้า และวิจัยมาตลอด นำการเคลื่อนไหวของคนมาประยุกต์ ปรับเปลี่ยน ปรับปรุง และส่งเสริมให้เป็นเกม เป็นกีฬา เป็นการออกกำลังกาย ทำให้การก้าวไปของพลศึกษาเป็นไปอย่างมีระบบขั้นตอน และเน้นการแข่งขันเพื่อพัฒนา คิดค้น วิจัย ให้การแข่งขันไปสู่เป้าหมายสูงสุดอย่างไม่สิ้นสุด
การก้าวไกลของพลศึกษา เน้นกิจกรรมทางกีฬา จัดในรูปแบบการเล่นกีฬานานาชนิด การแข่งขันกีฬานานาชาติ เพื่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งในแถบเอเชียจะเห็นขั้นตอนการแข่งขันกีฬาจากประเทศกลุ่มเล็กไปสู่ประเทศกลุ่มใหญ่ อย่างเช่นประเทศในแถบกบลุ่มเอเชีย มีกีฬาซีเกมส์ (Southeast Asian Games หรือ SEA Games) มีประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายเป็นกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games) หรือเรียกว่า "Asiad" คือกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย จากนั้นสู่ทั่วโลกคือกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games), ชี้ให้เห็นว่ามีการวิวัฒนาการในรูปแบบกีฬาแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ มาหลายครั้งหลายคราอย่างต่อเนื่อง
จากแนวคิดและเป็นความจริงเสมอของพุทธศาสนาที่ว่า “ ไม่มีสิ่งใดในโลกใบนี้ที่ประกอบขึ้นด้วยสิ่งเดียวหรืออยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ต้องประกอบขึ้นจากสิ่งหลายสิ่งมารวมกัน ” ดั่งความจริงที่ใกล้ตัวที่สุดคือร่างกายของคน มีองค์ประกอบมากมายที่ประกอบและรวมตัวกันเป็นร่างกาย และพยายามพัฒนาการไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ เฉกเช่น การจัดการแข่งขันกีฬาในระดับต่างๆ ไม่ว่าระดับประเทศ ระหว่างประเทศ และทุกประเทศทั่วโลก ที่ต้องประกอบด้วย
๑ สถานที่ มีการออกแบบสนามแข่งขัน ใช้วัสดุก่อสร้างที่คงทน เป็นการบูรณาการหลายศาสตร์ เพื่อความเกรียงไกร ความทันสมัย
๒ วัสดุอุปกรณ์กีฬา มีการคิดประดิษฐ์ ออกแบบอุปกรณ์กีฬาให้ทนทาน เบา และลดการทอนกำลังอย่างไม่น่าเชื่อ
๓ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า วงจรทางคอมพิวเตอร์ เพื่อมาควบคุมการทำงานในการจับเวลา การคำนวณหาค่าคะแนน และความสะดวกในการทำงาน
๔ ระบบบริหารงาน มีการวางแผนการดำเนินงานตั้งแต่ก่อนจัดการแข่งขันหลายปี จนกระทั่งถึงวันแข่งขัน และจบการแข่งขัน ซึ่งต้องประสานงานกับฝ่ายต่างๆอย่างมีระบบ
๕ งบประมาณ มีการคิดคำนวณ หารายได้จากส่วนของราชการและเอกชน มาสนับสนุนการจัดการแข่งขัน เพื่อให้เพียงพอ
๖ หน่วยงานต่างๆ ที่ต้องขอความร่วมมือในการสนับสนุน ส่งเสริมทั้งบุคลากรและสิ่งของ เครื่องใช้
และ ๗ ความร่วมมือของนานาประเทศ ที่ต้องปรึกษาหารือ ให้การจัดการแข่งขันมีความถูกต้องตามกฎระเบียบ และรับรู้ข้อตกลงในเรื่องต่างๆ ที่ต้องมีการพัฒนา ค้นคิด และวิจัย เพื่อให้การจัดการแข่งขันมีคุณภาพและประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ต้องพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาจากหลักสูตรแขนงต่างๆ ที่ได้จากวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นต้น ควบคู่กันไปกับส่วนต่างๆข้างต้น สู่จุดหมายปลายทางที่วางไว้ ดังปรากฏว่า นักกีฬาสามารถทำลายสถิติในกีฬากรีฑา ว่ายน้ำ หรือมียุทธวิธีการเล่นกีฬาฟุตบอลอย่างมีระบบแบบแผนสูงขึ้น มีพลังในการเสิร์ฟลูกเทนนิสที่รวดเร็วและรุนแรง มีพลังกายและพลังจิตในลีลายิมนาสติกที่ไม่คิดว่าคนจะทำได้เช่นนั้น เป็นต้น ดังนั้น ความก้าวไกลของพลศึกษา จึงไม่หยุดนิ่ง เพราะความก้าวไกลนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นคนที่ต้องการพัฒนาไปสู่จุดสูงสุดของชีวิตอยู่เสมอ
นี่เป็นเพียงผลพลอยได้จากการใช้ “กีฬา” เป็นสื่อสู่สมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ สู่ความสามารถเชิงกลไกของคน และความมีคุณธรรมที่ควรยกย่อง นอกจากนี้ยังมีความก้าวไกลของพลศึกษาที่ให้คุณค่าและความสำคัญตลอดมาจากอดีตสู่ปัจจุบันคือ “ออกกำลังกาย” แล้วแตกแขนงรูปแบบต่างๆให้มีรสนิยมหลากหลายเป็น แอโรบิค, เครื่องมือยกน้ำหนัก จนกลายเป็นธุรกิจทางกีฬาได้อย่างมหาศาล



พลศึกษา กรมพลศึกษา


ในอดีต กรมพลศึกษา เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการผลิตครูพลศึกษา โดยรับโอนโรงเรียนพลศึกษากลาง มาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 และได้มีการจัดตั้ง “วิทยาลัยพลศึกษา” ขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2496 เพื่อดำเนินการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ.สูง) และตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย” ขึ้นในปีการศึกษา 2501 เพื่อดำเนินการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.)
ต่อมาได้ยุบเลิกโรงเรียนฝึกหัดครูพลานามัย ในปี พ.ศ. 2512 และได้ขยายหลักสูตรของวิทยาลัยพลศึกษาเป็นระดับปริญญาตรี โดยเป็นส่วนหนึ่งของ วิทยาลัยวิชาการศึกษา แต่ยังคงดำเนินการโดยกรมพลศึกษา และใช้ชื่อว่า “วิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา” ในปี พ.ศ. 2514 ได้ยุติการดำเนินการวิทยาลัยพลศึกษาในส่วนกลางและโอนวิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา ไปให้วิทยาลัยวิชาการศึกษาดำเนินการต่อไป กรมพลศึกษาได้เปิดดำเนินการผลิตครูพลศึกษาในส่วนภูมิภาค โดยเริ่มเปิด “วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดเชียงใหม่” ขึ้นเป็นแห่งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 เปิด “วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคาม” และมีการเปิดเพิ่มขึ้นในจังหวัดต่างๆ เรื่อยมา จนกระทั่งมีวิทยาลัยพลศึกษารวม 17 แห่ง
เมื่อกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายบรรจุข้าราชการครูจากผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี กรมพลศึกษาจึงหาแนวทางยกฐานะวิทยาลัยพลศึกษาให้สามารถเปิดทำการสอนในระดับปริญญาตรี โดยในระยะแรกได้จัดทำโครงการร่วมมือทางวิชาการกับกรมการฝึกหัดครู เป็นสถาบันสมทบของวิทยาลัยครู เพื่อเปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2531 ในขณะเดียวกันก็มีแนวทางที่จะเปิดดำเนินการสอนระดับปริญญาตรีด้วยตนเอง จนได้มีการร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกฐานะวิทยาลัยพลศึกษาขึ้นเป็นสถาบันการศึกษาระดับปริญญา ในปี พ.ศ. 2538 และใช้ชื่อ “ร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคล พ.ศ. ...”
กรมพลศึกษา ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคลตามลำดับ พร้อมกับที่กรมอาชีวศึกษาได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และกรมศิลปากรได้เสนอร่างพระราชบัญญัติสถาบันพัฒนศิลป์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ แต่เนื่องจากสาเหตุบางประการกรมพลศึกษาได้นำร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคลกลับมาพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้งหนึ่ง เป็นเหตุให้ไม่สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ทันเวลา เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรหมดอายุลง จึงต้องนำร่างพระราชบัญญัติสถาบันกาญจนมงคล มาเริ่มดำเนินการตามขั้นตอนใหม่อีกครั้งหนึ่งภายหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้ว
การดำเนินการเพื่อยกฐานะดังกล่าว ได้ดำเนินเรื่อยมากระทั่งสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งร่างพระราชบัญญัติสถาบันการพลศึกษา ไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2548 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา ตอนที่ 13 ก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 จึงนับได้ว่าสถาบันการพลศึกษาได้ก่อกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548